• Print

ESHRE 2016: พญ.เยาวภา จงเป็นสุขเลิศ

 

            สวัสดีค่ะ ดิฉัน พญ.เยาวภา จงเป็นสุขเลิศ สูตินรีแพทย์ สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ประจำศูนย์สุขภาพหญิง โรงพยาบาลพญาไท 3  ได้มีโอกาสไปเข้าร่วมงานประชุมประจำปีของสมาคมการเจริญพันธุ์มนุษย์และคัพพะวิทยาแห่งภาคพื้นยุโรป ครั้งที่ 32 (The 32nd Annual Meeting of European Society of Human Reproduction and Embryology) ณ เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ช่วงระหว่างวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2559


            งานประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 1000 คน โดยเป็นการรวมสูตินรีแพทย์ สาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการรักษาผู้มีบุตรยากจากทั่วโลก และจากสถาบันชั้นนำต่างๆ การประชุม Main congress เริ่มในช่วงเช้าของวันจันทร์ ที่ 4 ก.ค. sessionแรกเป็นการบรรยายกล่าวเปิดงานโดยคุณ Allan A. Pacey จากประเทศอังกฤษ และบรรยายเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อความผิดปกติของรูปร่างตัวอสุจิทั้งที่แก้ไขได้และไม่ได้(Modifiable and non-modifiable risk factors for poor sperm morphology) ซึ่งดิฉันได้สรุปให้ทุกท่านทราบดังนี้ 1. ฤดูร้อนมีผลต่อรูปร่างความผิดปกติของตัว อย่างมีนัยสำคัญ ทางผู้บรรยายไม่ได้แสดงเหตุผล แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อรูปร่างตัวอสุจิ 2. การเสพกัญชาในช่วง 3 เดือนก่อนการเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิ มีผลทำให้อสุจิมีความผิดปกติส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีมวลกาย ชนิดของกางเกงชั้นใน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และประวัติการติดเชื้อคางทูมในอดีตไม่มีผลต่อรูปร่างของอสุจิ สรุปคือ การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างเชื้ออสุจิน้อยมาก ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้เลื่อนการรักษาการมีบุตรยากออกไปเพื่อการหวังผลให้มีคุณภาพของเชื้ออสุจิที่ดีขึ้นหลังจากนั้นก็มีหัวข้อต่างที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งดิฉันสามารถนำมาสรุปให้ทุกท่านได้อ่านดังนี้ค่ะ


1.    อิทธิพลของระยะเวลาตั้งแต่เก็บไข่ จนถึงการย่อยเซลล์พี่เลี้ยงไข่ ต่อการปฏิสนธิและการเจริญเติบโตของตัวอ่อน (Influence of the duration between removal of cumulus cells and oocyte retrieval on fertilization and embryonic development)การศึกษานี้เปรียบเทียบ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่  1 ได้รับการย่อยเซลล์ cumulus ออกทันทีหลังจากเก็บไข่ออกมา ส่วนกลุ่มที่ 2  ย่อยเซลล์ cumulus ออกหลังจากเก็บไข่ 2 ชม. พบว่าไม่พบความแตกต่างของอัตราการสมบูรณ์ของไข่ อัตราการปฏิสนธิ รวมถึงอัตราการเจริญของตัวอ่อนจนถึงระยะblastocyst ของทั้ง 2 กลุ่ม แต่มีความแตกต่างกันในแง่ของคุณภาพตัวอ่อนที่พัฒนาได้ถึงระยะblastocyst


2.    ผลของความเสียหายของดีเอ็นเอของเซลล์อสุจิจากแหล่งที่ได้มาต่อผลการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Meaning of DNA fragmentation in relation to the sperm source and ART outcome) เป็นการศึกษา sperm chromatin integrity ของเซลล์อสุจิที่ได้มาจากตำแหน่งต่างๆของระบบสืบพันธุ์เพศชาย ได้แก่ จากvas deferens, epididymis และtestis ในชายที่มีปัญหาดีเอ็นเอของเซลล์อสุจิเสียหายมากในการหลั่งเชื้อปกติ จากการศึกษาพบว่าความเสียหายของดีเอ็นเอของเซลล์อสุจิมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยอสุจิที่ได้จากการหลั่งเชื้อมีความเสียหายมากที่สุด จากvas deferens, epididymis และ testis มีความเสียหายลดน้อยลงมาตามลำดับ ผลการศึกษาพบว่าการใช้อสุจิจากการvas deferens, epididymis และ testis มาทำ ICSI ได้อัตราการตั้งครรภ์ 26.7% ในขณะที่การใช้อสุจิจากการหลั่งเชื้อมีอัตราการตั้งครรภ์เพียง14.6%. ดังนั้นการใช้อสุจิจากการ vas deferens, epididymis และ testis อาจเป็นทางช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ในการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีความเสียหายของดีเอ็นเอของเซลล์อสุจิสูงได้


            วันที่ 2 ของการประชุม 5 ก.ค.59 ได้มีการบรรยายถึงแง่มุมของเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของโครโมโซมเพศ ได้แก่ กลุ่มอาการ Klinefelter และ กลุ่มอาการ Turner ซึ่งในทั้งสองกลุ่มอาการนี้เราสามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้เร็วขึ้นจากการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด(noninvasive prenatal testing)  ซึ่งการวินิจฉัยที่ทำได้รวดเร็วขึ้นนั้นทำให้เราสามารถคงสภาพภาวะการเจริญพันธุ์ของผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น เช่น การให้ฮอร์โมน testosterone หรือการแช่งแข็งเซลล์สืบพันธุ์ (cryopreservation)ในเวลาที่เหมาะสมเพื่อการนำไปใช้ในอนาคตโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์  ส่วนในกลุ่มอาการ Turner ก็มีการกล่าวถึงการเก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์เช่นกัน แต่มีการเน้นย้ำว่าควรคำนึงถึงภาวะที่อาจส่งผลเสียได้ถ้าเกิดมีการตั้งครรภ์ ได้แก่ aortic dissection  ที่อาจอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ในช่วงการตั้งครรภ์

            นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอีก คือ การรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ของบุคคลเพศที่ 3 ก่อนการผ่าตัดแปลงเพศ (Fertility preservation for transgender prior to transition surgery) เนื่องจากบางครั้งการตัดสินใจเปลี่ยนเพศอาจเกิดขึ้นในช่วงอายุน้อย และยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องการมีบุตรในอนาคต รวมทั้งการใช้ฮอร์โมนในช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนเพศอาจส่งผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ในอนาคตได้ ดังนั้นจึงมีการกล่าวถึงการแช่แข็งตัวอ่อน (embryo cryopreservation) การแช่แข็งเซลล์ไข่ (oocyte cryopreservation) รวมถึงการแช่แข็งเนื้อเยื่อรังไข่ (ovarian tissue cryopreservation)ในผู้หญิงที่ต้องการเปลี่ยนเป็นชาย และการแช่แข็งเซลล์อสุจิ (sperm cryopreservation, surgical sperm extraction and testicular tissue cryopreservation) ในผู้ชายที่ต้องการเปลี่ยนเป็นหญิงด้วย โดยทั้งนี้มีการเน้นว่าควรคำนึงถึงกระบวนการขั้นตอนการรักษาที่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้รับการรักษาด้วย เช่น การเก็บเชื้อโดยการหลั่งเชื้ออสุจิในชายที่ต้องการเปลี่ยนเป็นหญิง หรือ การทำอัลตราซาวน์ทางช่องคลอดในขั้นตอนการกระตุ้นไข่เพื่อเก็บไข่เป็นต้น


            วันสุดท้ายของการประชุม 6 ก.ค.59 ได้มีการบรรยายถึงการทำให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial injury priop to embryo transfer in IVF )ว่าทำให้อัตราการฝังตัวของตัวอ่อนเพิ่มขึ้น แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของลักษณะการทำ เช่น ด้วยการตัดชิ้นเยื่อเนื้อโพรงมดลูก (Endometrial biopsy) หรือ การขูดมดลูก (Endometrial curettage) ความลึกที่เหมาะสม จำนวนครั้งที่ได้ผลดีที่สุด รวมไปถึงช่วงเวลาในการทำ กลไกที่ช่วยให้อัตราการฝังตัวของตัวอ่อนเพิ่มขึ้น นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าการทำให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุโพรงมดลูกอาจทำให้มีการเกิดการอักเสบ กระตุ้นการเกิด decidualisation ได้ โดยในช่วงต้นมีการทำการศึกษาในกลุ่มสตรีผู้มีบุตรยากที่มีปัญหาตัวอ่อนไม่ฝังตัวซ้ำๆ(recurrent implantation failure) ถึงแม้ว่าข้อมูลในปัจจุบันจะยังไม่สามารถอธิบายกลไกที่ชัดเจนในการเพิ่มอัตราการฝังตัวของตัวอ่อน แต่การทำให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นหัตถการที่สามารถทำได้ง่าย จึงเป็นที่แพร่หลายในการนำไปใช้เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์

            นอกจากนี้ยังมีหัวข้อที่กล่าวถึงกลไกการปวดในภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (ENDOMETRIOSIS, HOW DOES IT HURT?)ว่า เรายังไม่สามารถระบุถึงกลไกที่แท้จริงได้ โดยในการบรรยายนี้เน้นว่าความปวดน่าจะเกิดจาก peripheral pain systemเป็นสำคัญ รอยโรคทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ รอยโรคในเยื่อบุช่องท้อง (peritoneal lesions) รอยโรคที่รังไข่( ovarian cysts) และรอยโรคในชั้นลึก(deep endometriosis) ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับลักษณะ หรือ ความรุนแรงของอาการปวดที่เกิดขึ้น มีบางการศึกษาที่พบว่าเมื่อมีรอยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เกิดขึ้นจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้มีการเกิดขึ้นของเส้นใยประสาทตามมา เรียกกระบวนการนี้ว่า neuroangiogenesis ซึ่งการเจริญของใยประสาทเหล่านี้จะทำไห้มีการหลั่งสารต่างๆ เช่น proangiogenic factors (vascular endothelial growth factor, β-nerve growth factor and neuropeptides) ออกมา ซึ่งส่งผลทำให้ยิ่งกระตุ้นการเจริญของเส้นใยประสาทเพิ่มขึ้นไปอีก สารต่างๆเหล่านี้ยังอาจมาจากเซลล์ภูมิคุ้มกันที่พบได้เพิ่มขึ้นในเยื่อบุช่องท้องของผู้ที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อีกด้วย นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงกลไกการปวดในภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ด้วย เพราะมีการศึกษาพบว่าโครงสร้างสมองของผู้ที่มีภาวะความปวดเรื้อรัง จะมีทั้งโครงสร้างและการทำงานของสมองที่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ปวดโดยดูจาก functional brain imaging สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการขยายสัญญานกระแสประสาทความเจ็บปวดที่มากกว่าปกติในกลุ่มที่มีภาวะความปวดเรื้อรัง

            ช่วงท้ายของงานประชุมมีการแจกรางวัล การปิดงานประชุม รวมถึงมีการเกริ่นนำการประชุมในปีถัดไป จากนั้นคณะเดินทางได้รีบเดินทางไปยังสนามบิน เพื่อเดินทางกลับสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยสายการบิน Lufthansa เราเดินทางกลับถึงประเทศไทย เวลา 14.10 น.โดยสวัสดิภาพ จากการได้ไปร่วมประชุมในครั้งนี้พบว่าความรู้ต่างๆทางด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ได้มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่และก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้นเราจึงต้องติดตามงานประชุมอย่างสม่ำเสมอ หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้มีโอกาสไปร่วมงานประชุมกับดิฉัน ปีหน้าพบกันที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ESHRE 2017 สวัสดีค่ะ